สืบเนื่องจากลุ่มน้ำยมตอนบน มักประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่เป็นประจำทุกปี ที่ผ่านมากรมชลประทานได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำแบบมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การพัฒนาโครงการแหล่งน้ำ โครงการแก้มลิง การจัดการพื้นที่น้ำท่วม และการพัฒนาพื้นที่พิเศษ
ประชาชนในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เสนอการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำยมแทนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของ “สะเอียบโมเดล” จำนวน 26 โครงการ
โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อยู่ในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เป็นโครงการที่ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการในลำดับต้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรการอุปโภค-บริโภค บรรเทาอุทกภัย และกิจกรรมการใช้น้ำอื่น ๆ ในพื้นที่
ต่อมา ในปี 2566 – 2567 กรมชลประทาน ได้มอบหมายให้ กิจการร่วมค้า IESPD JV ได้แก่ บริษัท วิศวชลกร จำกัด และ บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด ให้ดำเนินงานงานสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น และ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 450 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ถึง วันที่ 7 กันยายน 2567
โดยกรมชลประทานมีแผนงานขอตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2569 สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และ ปี 2570 สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า
สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น (อ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2) มีที่ตั้งหัวงานอยู่หมู่ที่ 6 บ้านดอนแก้ว ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่สะกึ๋นบริเวณด้านเหนือน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋นเดิม ลักษณะตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดินถมแบบแบ่งส่วน มีความยาวสันเขื่อน 320 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 44 เมตร สามารถกักเก็บได้ 19.67 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า มีที่ตั้งหัวงานอยู่หมู่ที่ 4 บ้านนาหลวง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ลักษณะตัวเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด RCC มีความยาวสันเขื่อน 205 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 45 เมตร สามารถกักเก็บได้ 2.27 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จตามแผนงาน จะทำให้มีการส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร สามารถเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นพื้นที่ชลประทาน 7,940 ไร่ และพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า 2,310 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและโรงงานกลั่นสุราชุมชน 1.05 ล้าน ลบ.ม./ปี ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 147,400 ลบ.ม./ปี พร้อมกับช่วยพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยมเฉพาะฤดูแล้ง 6,700 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และช่วยรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำโดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม (